ติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรกู้ซื้อบ้านได้ไหม ?
อยากมีบ้านในฝันสักหลังแต่หากจะให้ซื้อเงินสดก็คงไม่ไหว หลายคนคงเลือกที่จะขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร แต่ก่อนที่ธนาคารจะอนุมัติ โดยส่วนใหญ่จะมีการตรวจเช็กประวัติการผ่อนชำระหนี้ หากเรามีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ดีก็มีโอกาสอนุมัติผ่านง่าย แต่บางคนอาจมีปัญหากู้เงินซื้อบ้านไม่ผ่านเพราะเคยมีประวัติการผ่อนชำระที่ล่าช้า มียอดค้างชำระเป็นจำนวนมากทำให้มีชื่อขึ้นในเครดิตบูโร แต่ความเป็นจริงแล้วแม้จะติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโรอยู่ก็ยังมีโอกาสกู้ซื้อบ้านได้ เพียงแค่เราต้องเข้าใจเรื่องเครดิตบูโร และหาวิธีปลดล็อกแก้แบล็คลิสต์ก่อน
มาทำความเข้าใจ ติดแบล็คลิสต์ หรือ ติดเครดิตบูโร คืออะไร?
หลายคนอาจจะคิดว่าการติดแบล็คลิสต์หรือการติดเครดิตบูโรมีความหมายเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วสองคำนี้มีความหมายที่ต่างกัน
ติดเครดิตบูโร หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ไม่ดี ซึ่งประเมินจากพฤติกรรมการใช้จ่าย การผ่อนชำระสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ตรงกำหนดหรือมียอดค้างชำระจำนวนมาก ซึ่งเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินและเจ้าของข้อมูล เมื่อสถาบันการเงินหรือลูกค้าเจ้าของข้อมูลต้องการเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด บริษัทข้อมูลเครดิตจึงจะเปิดเผยข้อมูลเครดิตนั้นในรูปของรายงานข้อมูลเครดิต ซึ่งข้อมูลจะประกอบไปด้วยพฤติกรรมการชำระเงิน ทั้งประวัติดีและล่าช้า เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาสินเชื่อในอนาคต โดยเครดิตบูโรจัดเก็บข้อมูลเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน/เดือน/ปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขบัตรประชาชน และในกรณีนิติบุคคลจะเป็นชื่อ ที่ตั้ง เลขทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
- ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น ประวัติการกู้ซื้อบ้าน/กู้ซื้อรถ ผ่อนบัตรเครดิตอยู่กี่ใบ มีสินเชื่อทั้งหมดกี่บัญชี สถานะของแต่ละบัญชี และประวัติการผ่อนชำระ เป็นต้น
ติดแบล็คลิสต์ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ตรงตามกำหนด หรือมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งจะถูกบันทึกประวัติในเครดิตบูโร ห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ห้ามขอสินเชื่อ ห้ามเปิดบัตรเครดิต เป็นต้น
ค้างชำระกี่เดือนถึงจะติดเครดิตบูโร ?
บูโรจะจัดเก็บข้อมูลการผ่อนชำระหนี้แสดงประวัติสินเชื่อเป็นเวลา 3 ปี ย้อนหลัง หากบุคคลใดมีพฤติกรรมชำระหนี้ล่าช้า ค้างชำระ หรือผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน ทางสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลสินเชื่อคงค้างให้เครดิตบูโร ถือเป็นหนี้เสียจะเก็บข้อมูลไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน
สถานะบัญชีเครดิตบูโรสำคัญที่ต้องรู้
การมีเครดิตบูโรที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อบ้านง่ายขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว สถานะบัญชีเครดิตบูโรจะแสดงออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งสถานะบัญชีเครดิตบูโรสำคัญที่ควรรู้ มีดังนี้
- สถานะบูโร 010 หรือ 10 : สถานะปกติ ชำระหนี้ตรงเวลา จ่ายครบ ไม่มีหนี้ค้าง
- สถานะบูโร 011 หรือ 11 : ชำระหนี้ครบตามจำนวน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ใหม่ หรือหนี้ที่เคยค้างชำระไว้เป็นเวลานาน และปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
- สถานะบูโร 012 หรือ 12 : มีการขอพักชำระหนี้ตามนโยบายของสมาชิก ทำให้สถานะไม่เป็นการค้างชำระ
- สถานะบูโร 013 หรือ 13 : มีการขอพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ ทำให้สถานะไม่เป็นการค้างชำระ
- สถานะบูโร 014 หรือ 14 : มีการขอพักชำระหนี้เกษตรกรตามนโยบายของรัฐ จึงทำให้สถานะไม่เป็นการค้างชำระ
- สถานะบูโร 020 หรือ 20 : มีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL)
- สถานะบูโร 021 หรือ 21 : มีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
- สถานะบูโร 030 หรือ 30 : อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย
- สถานะบูโร 031 หรือ 31 : อยู่ในระหว่างชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
- สถานะบูโร 032 หรือ 32 : ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากขาดอายุความ
- สถานะบูโร 033 หรือ 33 : ปิดบัญชี เนื่องจากตัดเป็นหนี้สูญ
- สถานะบูโร 040 หรือ 40 : อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อ เพื่อปิดบัญชี
- สถานะบูโร 041 หรือ 41 : เจ้าของข้อมูลขอตรวจสอบรายการ
- สถานะบูโร 042 หรือ 42 : โอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน
- สถานะบูโร 043 หรือ 43 : โอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้น
- สถานะบูโร 044 หรือ 44 : โอนหรือขายหนี้ที่เป็นสถานะบัญชีปกติ
สถานะเครดิตบูโรสำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้าน ให้ดูที่สถานะเครดิตบูโร 40 เป็นหลัก ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อ เพื่อปิดบัญชี หากยังปิดชำระหนี้ไม่หมดก็มีโอกาสที่จะทำให้กู้ไม่ผ่าน แต่หากชำระหนี้หมดแล้วแต่สถานะเครดิตบูโรยังขึ้นเป็นสถานะบูโร 40 ให้รออย่างน้อย 3 เดือน สถานะเครดิตบูโรก็จะเข้าสู่สถานะปกติ
ติดแบล็คลิสต์ซื้อบ้านได้ไหม?
สามารถกู้ซื้อบ้านได้ แต่จำเป็นจะต้องกู้ร่วมกับคนในครอบครัวที่มีประวัติทางการเงินที่ดี น่าเชื่อถือ ไม่มีหนี้ค้างชำระ มีรายได้ประจำสม่ำเสมออย่างมั่นคง ภาระหนี้สินไม่เยอะ แต่ทางที่ดีการปลดแบล็คลิสต์อาจจะดีที่สุด ถ้ามีสถานภาพการเงินที่มั่นคงยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้กู้บ้านผ่านได้สูงขึ้น หรือถ้าไม่มีผู้กู้ร่วม ก็อาจใช้การวางแผนชำระหนี้ให้สถานะกลับมาเป็นปกติก่อน
ถ้าเราติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่จะแก้อย่างไรได้บ้าง?
1.วางแผนชำระหนี้ที่มีอยู่ ตรวจสอบว่าเรายังมีหนี้ค้างชำระอยู่กี่ก้อน ก้อนละเท่าไหร่ จากสถาบันการเงินอะไรหรือจากแหล่งไหนบ้าง เขียนเรียงลำดับทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระ โดยให้เรียงลำดับจากหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน เพราะเป็นหนี้ที่เราต้องปิดให้เร็วที่สุด หากปล่อยไว้นานเงินต้นไม่ลดเลยเงินที่เราต้องจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
2. เจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หากมียอดค้างชำระสูงก็อาจเลือกเข้าเจรจากับทางธนาคาร เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยการเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยหรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปนานขึ้น หากธนาคารยินยอมให้ปรับโครงสร้างหนี้ก็ต้องรักษาการจ่ายชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อทำให้สถาบันการเงินรู้สึกมั่นใจต่อการชำระคืนและไม่ทำให้เครดิตของเราเสียหายมากขึ้น
3. เก็บเงินออม ปรับพฤติกรรมด้านการใช้เงิน หลังจากที่เรามีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เราก็ต้องมีการวางแผนผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ธนาคาร แล้วเราควรที่จะแบ่งเงินมาเก็บออมสัก 10-20% เพื่อซื้อบ้าน เราจะได้มีเงินดาวน์และพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยิ่งมีเงินดาวน์บ้านการจะทำให้เราสามารถผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนได้น้อยลงไปด้วย
4. รอระยะเวลาตามที่ธนาคารกำหนด หลังจากที่จ่ายชำระหนี้สินและปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว จะยังไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารได้ทันที เพราะธนาคารแต่ละแห่งจะมีการกำหนดระยะเวลาในการดูพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้กู้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร โดยบางธนาคารอาจใช้ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 – 2 ปี
5. สร้างเครดิตใหม่ หลังจากจ่ายชำระหนี้ครบหมดแล้ว รอชื่อหลุดจากบูโร 3 ปี ก็สามารถยื่นกู้ได้ หรือต้องการยื่นกู้ให้ได้รับการอนุมัติเร็วขึ้น ให้สร้างเครดิตใหม่ขึ้นมาแต่เครดิตนี้ต้องมีความน่าเชื่อถือสูง เช่น การขอสินเชื่อเงินกู้ต่างๆ จากสถาบันการเงิน หรือการทำบัตรเครดิตที่วงเงินไม่สูงมาก แต่เราต้องสามารถจ่ายชำระเงินได้ตามกำหนดและไม่เกิดเป็นหนี้เสียภายหลัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับธนาคาร แต่สำหรับผู้ที่พึ่งปลดแบล็กลิสต์อาจจะยื่นขอกู้สินเชื่อต่าง ๆ ได้ไม่ง่ายนัก อาจเลือกวิธีการกู้ร่วมกับบุคคลในครอบครัวที่ไม่เคยติดแบล็กลิสต์มาก่อนและมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น